ชวนเกษตรกรงดการเผา บรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5
ชวนเกษตรกรงดการเผา บรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 ป้องกันสุขภาพ และลดโลกร้อน
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างรุนแรง เสี่ยงกระทบต่อสุขภาพของคนไทย การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องจัดการที่ต้นตอ ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากหลายแหล่ง และที่เป็นสาเหตุสำคัญอีกหนึ่งแหล่งนั้นก็คือ การเผาเพื่อหาของป่าและวัสดุทางการเกษตร
ขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกร ‘งดการเผา’ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลทั้งต่อตัวเราเอง ลูก หลาน รวมไปถึงโลกของเรา
ชาวเกษตรควรรู้ โทษและผลกระทบของการเผาวัสดุทางการเกษตร
1) โทษทางกฎหมาย – ผู้ที่เผาพื้นที่การเกษตร แม้เป็นในพื้นที่ทรัพย์สินของตนเอง อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.220 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
2) ผลกระทบต่อสุขภาพ – ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของตนเองและคนที่คุณรัก ซึ่งฝุ่นพิษเป็นสาเหตุของโรคร้าย เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคมะเร็งปอด
3) ผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก – การเผาไหม้จะทำให้คุณภาพดินเพาะปลูกเสื่อมโทรม แร่ธาตุและสารอาหารในดินลดลง ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อการทำเกษตรกรรม หากต้องการผลผลิตดี เกษตรกรจำเป็นต้องให้สารเคมีมากขึ้น ก็จะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้บริโภคมากขึ้นตามไปด้วย
4) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ – การเผาทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสม ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเผาที่สร้าง PM2.5 ก็ทำให้จังหวัดท่องเที่ยวที่มีปริมาณฝุ่นเยอะ สูญเสียรายได้ หรืออาจเป็นประเด็นระดับประเทศ ในทางการค้า
ถ้าไม่เผา เราทำอย่างไรดี ?
ชาวแรงงานที่เป็นเกษตรกร สามารถเปลี่ยนจากการเผาซากพืชเกษตรกรรม นำมาแปรรูปหรือสร้างประโยชน์ทดแทน ถือเป็นการส่งเสริมความยั่งยืน และบางอย่างยังสามารถเพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพ เช่น
แทนที่จะเผาให้ดินเสื่อมโทรม ลองเปลี่ยนเป็นไถกลบ ซากพืชดีกว่า เป็นวิธีการเพิ่มปุ๋ยให้พื้นที่เพาะปลูก เปลี่ยนหน้าดินให้แมลง ศัตรูพืช ถูกทำลายด้วยแสงแดดตามธรรมชาติ เพื่อผลผลิดที่ดี และมีคุณภาพในระยะยาว
ซากพืช เช่น ฟางข้าวหรือข้าวโพด สามารถนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ เช่น โค กระบือ หมู ช่วยลดค่าอาหารสัตว์
เกษตรกรเก็บรวบรวมซากพืชส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ผลิตพลังงานทดแทน เป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง และสร้างความยั่งยืน
เกษตรกร นำเศษซังและเปลือกข้าวโพดมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง ติดไฟแรง และสร้างรายได้ได้ดีอีกด้วย
การหยุดเผาพื้นที่เกษตรเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่จะส่งผลต่อการคลี่คลายปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงภาวะโลกร้อน ท้ายที่สุด ผลลัพธ์จะเวียนมาในรูปของอากาศที่ดี ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนปลอดภัยจากมลพิษ มีสภาพแวดล้อมที่ดี และรักษาความสมบูรณ์ของโลกต่อไป
ที่มา : https://ddc.moph.go.th/odpc5/news.php?news=33764&deptcode=odpc5&news_views=