กรมอนามัย ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนสภาพอากาศร้อนจัด ระวังป่วยฮีทสโตรก
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิและผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนจัด คาดว่าในเดือนเมษายนนี้ มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส แนะกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสภาพอากาศในประเทศไทย ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น อาจผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก ที่มีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อน เป็นเวลานาน เช่น คนงานก่อสร้าง ทหารเกณฑ์ เกษตรกร นักวิ่งมาราธอน ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณน้อย ติดสุราทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็กเล็กที่มีความสามารถในการระบายความร้อนจากร่างกายได้น้อยกว่ากลุ่มวัยรุ่นที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรคบางชนิดเป็นยาที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ ที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากความร้อน
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในประเทศไทยจะร้อนจัดยาว ตั้งแต่ต้นเดือนเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 และจะร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 40-43 องศาเซลเซียส ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 40-42 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และจังหวัดที่จะมีแนวโน้มอุณหภูมิสูงที่สุด คือ สุโขทัย ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน”
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือออกกำลังกายท่ามกลางสภาพอากาศร้อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรจิบน้ำบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด นอกจากนี้ไม่ควรให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคอ้วนออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป โดยเลือกทำกิจกรรมในอาคารที่มีอากาศเย็น หรือที่ร่ม แต่หากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรป้องกันตนเองด้วยการใช้อุปกรณ์กันแดด ได้แก่ ร่ม หมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด ครีมกันแดด ตั้งแต่ SPF 15 ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการจากความร้อน
“ทั้งนี้ ประชาชนต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้ โดย 4 อาการสำคัญของโรคนี้ ได้แก่ 1) เหงื่อไม่ออก 2) สับสน มึนงง 3) ผิวหนังเป็นสีแดง และแห้ง 4) ตัวร้อนจัด ในกรณีที่พบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ให้โทรแจ้ง 1669 ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น รีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนสิ้นอุดทางเดินหายใจ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วด้วยรถปรับอากาศหรือเปิดหน้าต่างรถ เพื่อให้อากาศถ่ายเท” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด