แนวทางการรณรงค์วัคซีนหัด MRc และ MMRc พร้อมกัน(14พ.ย.2562)
เนื่องจากนโยบายการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1 – 12 ปี ทั่วประเทศ พ.ศ. 2562 – 2563 ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย กองโรคป้องกันด้วยวัคซีนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ตามที่ประเทศไทยได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันกับนานาชาติในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 63 (World Health Assembly : WHA) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปี 2553 ในการกำจัดโรคหัด โดยได้กำหนดเป้าหมายให้อุบัติการณ์การเกิดโรคหัดไม่เกิน 1 รายต่อประชากรล้านคน และไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ (Zero Endemic Case) ภายในปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการโดยมุ่งเน้นการเพิ่มและรักษาระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด การเร่งรัดการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคหัด การจัดตั้งเครือข่ายการตรวจเชื้อไวรัสหัดทางห้องปฏิบัติการ และการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น รวมถึงการให้วัคซีนเพื่อการควบคุมโรคในกรณีเกิดการระบาด
ในระยะที่ผ่านมาประเทศไทยยังประสบปัญหาการระบาดของโรคหัดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดการระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดภาพรวมของประเทศไทยค่อนข้างสูงก็ตาม แต่ยังมีช่องว่างทางภูมิคุ้มกันในประชากรบางส่วน ทั้งเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ซึ่งพบมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้และในจังหวัดที่มีประชากรกลุ่มด้อยโอกาสทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติประมาณร้อยละ 5 หากไม่สามารถปิดช่องว่างทางภูมิคุ้มกันในประชากรกลุ่มดังกล่าวหรือไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคหัดได้ จะส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการกำจัดโรคหัดตามพันธสัญญานานาชาติ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้มีการรณรงค์ให้วัคซีนโรคหัดอย่างเข้มแข็งและเร่งด่วน ในปี 2562 – 2563 เพื่อปิดช่องว่างทางภูมิคุ้มกันในประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยหวังผลให้เด็กไทยและเด็กต่างชาติ อายุ 1 – 12 ปี ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและป่วยด้วยโรคหัด การควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค รวมถึงลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัดของประเทศไทยลง โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการกำจัดโรคหัดตามพันธสัญญานานาชาติได้ กลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์ฯ ครั้งนี้ครอบคลุมทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติ อายุ 1 – 12 ปี
ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และกลุ่มเด็กวัยเรียน ที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่การรณรงค์ฯ ระยะเวลาดำเนินการ ชนิดวัคซีน และกลุ่มเป้าหมายมีความแตกต่างกัน เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงขอให้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการให้วัคซีนในทุกระดับ เช่น ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คลินิกเด็กสุขภาพดี (WBC) ฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน งานอนามัยโรงเรียน คลังวัคซีนระดับอำเภอ ตลอดจนผู้ติดตามประเมินผล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับเขตสุขภาพ ที่รับผิดชอบโครงการได้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้
– การดำเนินโครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันในกลุ่มเด็กไทยและต่างชาติ อาศัยอยู่ในประเทศไทย อายุ 1 – 12 ปี ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ครบตามเกณฑ์ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่ดำเนินการ และกำหนดช่วงเวลาการให้วัคซีน ดังนี้
- การรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1 – ต่ำกว่า 7 ปี
กลุ่มที่ 1 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 5
ช่วงเวลาในการฉีดวัคซีน เดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2562
กลุ่มที่ 2 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 3, 4, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 และ กรุงเทพมหานคร
ช่วงเวลาในการฉีดวัคซีน เดือนมกราคม – มีนาคม 2563
- การรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7 – 12 ปี พร้อมกันทุกจังหวัด ช่วงเวลาในการฉีดวัคซีน เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2562